ไขข้อสงสัย เป็น ''ตากุ้งยิง'' ไม่ใช่เพราะไปแอบดูใคร!
เรียกได้ว่าเป็นความเชื่อที่เข้าใจผิดกันมานานเกี่ยวกับการเป็น "ตากุ้งยิง" ว่าที่เป็นเพราะ "การไปแอบดูใคร" แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคจริงๆ
วันนี้ GangBeauty เลยขอมาใขข้อข้องใจเกี่ยวกับ "ตากุ้งยิง" พร้อมวิธีรักษาและป้องกันไม่ให้เป็นตากุ้งยิง ไปดูกันเลย ตากุ้งยิง คือ ตุ่มฝีเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตา ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร พบเกิดได้กับเปลือกตาทั้งสองข้าง โอกาสในการเกิดแต่ละข้างมีใกล้เคียงกัน สามารถเกิดได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักพบว่าเกิดกับเปลือกตาบนมากกว่า เพราะเปลือกตาด้านบนจะมีจำนวนต่อมต่าง ๆ มากกว่าเปลือกตาล่าง
ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่าง ๆ จากต่อมต่าง ๆ ดังกล่าวบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี
[ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นตากุ้งยิง]1. ขยี้ตาบ่อยๆ จนเปลือกตามีเชื้อแบคทีเรียหรือฝุ่นเกาะอยู่
2. ล้างเครื่องสำอางบริเวณดวงตาออกไม่หมด
3. ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
4. ใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาด เช็ดดวงตา
5. เช็ดถูดวงตา ด้วยเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
6. ล้างหน้าด้วยน้ำปนเชื่อโรค
7. น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
8. ฝุ่นละอองในอากาศลอยเข้าตา
1. การดูแลตนเองที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น ได้แก่ การงดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิด, งดใส่คอนแทคเลนส์, ห้ามบีบหรือเค้นเพื่อเอาหนองออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น (หากหนองแตกเองให้ล้างบริเวณหนองด้วยน้ำต้มสุก), ไม่ขับรถเองในช่วงเป็นกุ้งยิง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้, ผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิงยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรหมั่นพักสายตาเป็นระยะ ๆ
2. เมื่อพบว่าเป็นตากุ้งยิงในระยะแรก ควรเช็ดขอบตารอบ ๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เช็ดจากหัวตาไปหางตา โดยในขณะทำให้หลับตาไว้) และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าอยู่เสมอ
3. ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัด ๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบา ๆ โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20-30 นาที (การประคบอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยทำให้ไขมันที่อุดตันต่อมเปิดออก ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
4. หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ) ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก
5. ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
6. ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้า หูโตร่วมด้วย ให้กินยาไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
7. โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา ในบางรายอาจหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของเภสัชกรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการผ่าเอาหนองออก (แต่ทางที่ดีสุดก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง)
8. หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปแพทย์ในทันที ได้แก่ อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์, ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บตา, ก้อนที่เปลือกตาพบว่ามีเลือดออก, พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา, เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด, เปลือกตาแดงหรือตาแดงทั่วไปหมด, สายตาผิดปกติ, มีอาการแพ้แสงแดด และกุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
1 ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตา ใบหน้า เส้นผม โดยเฉพาะผู้หญิงควรสระผมบ่อยๆ
2 ระวังอย่าให้ผมแยงตา
3 หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตา หรือใช้มือขยี้ตาบ่อยๆ
4 หลีกเลี้ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว เช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น
5 ล้างเครื่องสำอางออกให้หมด โดยเฉพาะบริเวณดวงตา
6 เมื่อสงสัยว่าเป็นตากุ้งยิงให้มาพบแพทย์และไม่ควรขยี้ตาหรือพยายามจะจับ