การกิน ถือเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราได้โดยตรง คนที่มีปัญหาในการกิน หรือมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่หิวแต่ก็ยังกิน กินอาหารเยอะกว่าคนอื่นๆ คุณอาจเข้าข่ายเป็น โรคกินไม่หยุด โรคเกี่ยวกับการกินที่ปล่อยไว้ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้
“กินไม่หยุด” โรคนี้ไม่ควรมองข้าม
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder: BED) เป็นโรคในกลุ่ม Eating disorder หรือพฤติกรรมการกินผิดปกติ จัดเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยโรคนี้จะกินแบบเป็นช่วงๆ เช่น ต้องกินทุก 2 ชั่วโมง โดยปริมาณอาหารที่กินจะเยอะกว่าคนทั่วไป หากเปรียบเทียบด้วยการกินเป็นช่วงระยะเวลาแบบเดียวกัน และจะควบคุมตัวเองไม่ได้จนกินอาหารมากเกินควร โรคนี้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่นักวิจัยคาดว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วม เช่น ยีนบางตัว ภาพลักษณ์ ความพึงพอใจในตนเอง ประสบการณ์ทางสังคม ประวัติสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ มีผลการศึกษาที่พบว่า ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดอาจใช้การกินจนเกินพอดีเป็นวิธีรับมือกับความโกรธ ความเศร้า ความเบื่อหน่าย ความวิตกกังวล หรือความเครียด จนเกิดเป็นความเคยชินและเป็นโรคในที่สุด
อาการและสัญญาณของโรคกินไม่หยุด
หากคุณกินเป็นช่วงๆ ในปริมาณที่เยอะกว่าปกติ และควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้ ร่วมกับมีอาการหรือพฤติกรรมดังต่อไปตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งภายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นั่นหมายถึง คุณอาจเป็นโรคกินไม่หยุด
– กินเร็วกว่าปกติ
– กินจนรู้สึกจุก
– กินอาหารในปริมาณมากแม้จะไม่รู้สึกหิว
– กินอาหารคนเดียวเพราะอายที่ตัวเองกินเยอะ
– รู้สึกรังเกียจตัวเอง ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดหลังจากแสดงพฤติกรรมข้างต้น
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น โรคกินไม่หยุด
โรคกินไม่หยุดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้จะเป็นเพศหญิง โดยผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้ คือผู้ที่มีพฤติกรรมดังนี้
– ไม่สะดวกใจที่ต้องกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
– กินอาหารปริมาณมากหมดอย่างรวดเร็ว
– ชอบซ่อนหรือเก็บของกินไว้ในที่แปลกๆ
– ปลีกตัวจากเพื่อนฝูง และเลือกการกินแทนการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
– ชอบส่งกระจกดูรูปร่างหน้าตาของตัวเองและหาจุดบกพร่อง
– เป็นกังวลเรื่องรูปร่างและน้ำหนักตัวอย่างมาก
– ลดน้ำหนักเป็นประจำ
– น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ
– มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้ ควรรีบทางวิธีเลิกซะ ก่อนที่จะเข้าขั้นป่วยเป็นโรคกินไม่หยุด
กินไม่หยุด ระวัง! โรคเหล่านี้อาจถามหา
หากคุณมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ อย่างโรคกินไม่หยุด อาจส่งผลให้คุณเป็นมีปัญหาสุขภาพหรือเป็นโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนี้
– ภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน การที่คุณกินไม่หยุดย่อมส่งผลให้คุณน้ำหนักขึ้นได้ไม่ยาก ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดส่วนใหญ่มักมีปัญหาน้ำหนักเกิน เพราะกินอาหารปริมาณมากติดต่อกันบ่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้นและมักไม่ค่อยออกกำลังกาย จนสุดท้ายกลายเป็นโรคอ้วน
– โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกินไม่หยุดทำให้คุณกินเยอะจนน้ำหนักเกิน หัวใจจึงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงปอดและอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ยากขึ้น เมื่อคุณอ้วน มีไขมันเยอะ โดยเฉพาะไขมันในช่องท้องหรือที่เรียกกันว่า “พุง” จะทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง
– โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่เป็นโรคกินไม่หยุดมีความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่หายขาด ต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ยิ่งคุณกินไม่หยุดก็จะยิ่งทำให้ควบคุมปริมาณอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก จึงอาจส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และควบคุมอาการของโรคหรือรักษาได้ยากกว่าคนอื่น
– โรคทางอารมณ์ ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดมักรู้สึกผิด หรือรู้สึกแย่กับกับพฤติกรรมการกินของตัวเอง จนส่งผลให้เป็นโรคทางอารมณ์ หรือโรคทางจิตเวชร้ายแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบางรายอาจมีพฤติกรรมใช้สารในทางที่ผิด (Substance abuse) คือ ใช้ยาหรือสารบางอย่างจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
– ปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น โรคนี้ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อไทรอยด์ รวมไปถึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก จึงทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้นด้วย
หากเป็นแล้ว ต้องรักษาอย่างไร
การรักษาโรคกินไม่หยุด อาจต้องใช้วิธีการรักษาหลายแบบพร้อมกัน ดังนี้
– การบำบัด เช่น จิตบำบัด ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy / CBT) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิด ช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เลิกคิดลบ จะได้ไม่นำไปสู่การกินไม่หยุด
– การให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการ โดยนักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ เพื่อให้ผู้ป่วยกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น
– การใช้ยา เช่น ยาลดความอยากอาหาร (appetite suppressants) ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งอาจช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยยับยั้งการกินไม่หยุดได้
หากถึงขั้นนี้ อย่าปล่อยไว้! ควรรีบไปหาคุณหมอ
โรคกินไม่หยุดนี้ถือเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้มากมาย หากคุณมีพฤติกรรมหรืออาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
– น้ำหนักขึ้นลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ
– คิดอยากทำร้ายตัวเอง
– ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไม่ได้ แม้จะมีครอบครัว เพื่อน หรือคุณหมอช่วยเหลือ
– รู้สึกซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
– ต้องจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์