อาการปวดหัวที่เรามักพบบ่อยๆ มีอยู่ 2 ประเภท คือ ปวดหัวแบบมีความผิดปกติในสมอง เช่น มีอาการหลอดเลือดโป่งพองในสมอง เส้นเลือดดำในสมองอุดตัน หรือมีก้อนเนื้องอกในสมอง และอีกหนึ่งอาการปวดหัวที่มักพบบ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยเรียนวัยทำงาน คือ อาการปวดหัวจากความเครียดและอาการปวดหัวจากไมเกรน
อาการปวดหัวแบบต่างๆ ที่พบบ่อย
ปวดแบบมีความผิดปกติในสมอง
– มักพบในผู้สูงอายุ 45 ปีขึ้นไป หรืออาจเกิดขึ้นกับวัยอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
– ปวดรุนแรงมากแบบไม่เคยรู้สึกปวดขนาดนี้มาก่อน
– มักพบในคนที่ไม่เคยปวดหัวมาก่อน อยู่ดีๆ ก็ปวด
– ปวดจนต้องตื่นนอน นอนต่อไม่ไหว
– ปวดตอนไอ จาม เบ่ง
– อาจปวดตอนนั่งแต่ไม่ปวดตอนนอน หรือปวดตอนนอนแต่ไม่ปวดตอนนั่ง
– อาจมีอาการปวดหัวจนอาเจียนหลังตื่นนอน
– อาจปวดหัวบ่อยๆ แบบทนได้ แต่หลังๆ ปวดต่างไปจากเดิม
– กินยาไม่หายขาด จะต้องพบแพทย์ด้านระบบประสาท
ปวดหัวจากความเครียด
– มักพบในวัยเรียนวัยทำงานส่วนใหญ่
– มีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง รู้สึกรัดๆ ตึงๆ จากกล้ามเนื้อ ลามไป หน้าผาก ขมับ กระบอกตา
– เกิดจาการจากการทำงานหนัก ทั้งการทำงานใช้แรงกาย การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน งานที่ใช้สายตามากจนล้า
– ขับรถไกลๆ นั่งรถไกลๆ ก็อาจทำให้ร่างกายเครียดจนปวดหัวได้
– เกิดจากความเครียดจากจิตใจ มีเรื่องกระทบจิตใจร้ายแรง
– พักผ่อน กินยา นอนหลับ ตื่นมาก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
ปวดหัวไมเกรน
– ส่วนมากมักเกิดกับผู้หญิง อายุไม่เกิน 40
– มีอาการปวดหัวข้างเดียว ซีกซ้ายขวาสลับกันได้ ลักษณะปวดตุ๊บๆ
– อาจปวดประมาณ 4 ชั่วโมง และยาวต่อเนื่องไปถึง 3 วันได้ หากไม่ได้กินยา
– ต้องกินยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ
– สาวๆ อาจมีอาการปวดหัวไมเกรนได้ก่อนช่วงมีประจำเดือนหรือมีประจำเดือน 3 วันแรก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวมากกว่าปกติ แต่เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวล
– อาหารกระตุ้นปวดหัวไมเกรน คือ อาหารในกลุ่มที่มีชีส ของหมักดอง กาเฟอีนสูง แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต
ปวดหัวส่วนไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง
– ปวดหัวซีกเดียว หรือปวดไมเกรน อาจเปลี่ยนซีกซ้ายขวา เป็นภาวะปกติ ไม่น่ากังวล เพราะหมายถึงไม่มีรอยโรคจุดใดจุดหนึ่งชัดเจน แต่ถ้าปวดข้างใดข้างหนึ่งเสมอ เช่น ข้างขวาทุกครั้ง และมีอาการแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะผิปกติสมองซีกนั้น ปวดข้าวเดียวมักเป็นไมเกรน แต่สลับข้างได้
– ปวดขมับ หน้าผาก ตา กระบอกตา เป็นอาการปวดหัวเกิดจากความเครียด
– ปวดบริเวณท้ายทาย เป็นอาการปวดหัวจากความดันโลหิตสูง
– ปวดบริเวณโพรงจมูก แก้ม อาจเกิดจากไซนัสอักเสบ
ดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการปวดหัว
ปวดหัวไม่เกิน 2 ครั้ง / เดือน
ถ้าไม่ได้ปวดหัวเป็นประจำ ปวดหัวไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน เช่น เกิดจากการอดนอน นอนไม่พอ เกิดจากความเครียด ปวดจากอาการไข้ขึ้น ป่วย ไม่สบาย อาจนอนพักผ่อนเมื่อตื่นมาอาการจะดีขึ้น หากไม่ดีขึ้น สามารถกินยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้ หรือหากกินพาราเซตามอลแล้วไม่หาย อาจเกิดจากไมเกรนต้องกินยาเฉพาะทางให้ตรงกับโรค
ปวดหัวเกิน 2 ? 4 ครั้ง / เดือน
ปวดหัวบ่อยอาจเป็นเพราะเป็นโรคปวดหัว จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติในสมอง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา คือ ยาเฉพาะเวลาปวดและยาป้องกันอาการ ถ้าปวดบ่อยจนต้องกินยาเกินเดือนละ 10 เม็ด ยาอาจส่งผลข้างเคียงต่อตับและไตได้ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ด้านระบบประสาทเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
ปรับไลฟ์สไตล์ ลดอาการปวดหัว
– การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนมากไป นอนน้อยไป สามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ ควรนอนพักผ่อนให้เหมาะสม 6 ? 8 ชั่วโมงต่อวัน และควรนอนหลับก่อนเวลา 23.00 น.
– อากาศเปลี่ยน มีมลภาวะ
– ใช้ฮอร์โมนในการรักษา หรือกินยาคุม มีผลต่ออาการปวดหัว ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
– ทำงานหนักเกินไป ใช้สายตาหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน อาจทำให้ร่างกายล้าจนเกิดอาการปวดหัว โดยทุก 1 ชั่วโมงควรลุกเดิน ยืดเส้นยืดสาย พักสายตา มองบริเวณสีเขียวหรือหลับตาพัก จะช่วยลดอาการได้
– ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที / สัปดาห์
– จิบน้ำบ่อยๆ
– ผู้ที่มีอาการปวดไมเกรน ต้องเลี่ยงการอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดังๆ
– เลี่ยงอาหารจำพวกหมักดอง อาหารที่มีชีสเป็นส่วนผสม กาเฟอีน และแอลกอฮอล์