เช็คอาการโรคซึมเศร้า คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
โรคซึมเศร้าภัยเงียบที่น่ากลัวโรคยอดฮิตของคนสมัยนี้ เรามักจะได้ยินและได้เห็นข่าวน่าเศร้าของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่เสมอโดยเฉพาะวัยรุ่นวัยทำงานที่มักต้องเจอกับความเครียดความกดดันความเสียใจทั้งจากเรื่องงานเรื่องเรียนหรือการปฎิสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เจ้านาย พี่น้อง ครอบครัว ญาติ ครู ฯลฯ เมื่อสิ่งที่เก็บกดอยู่ข้างในไม่ได้รับการระบายออกมาก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเราหรือคนใกล้ตัวกำลังเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? เราสามารถรู้ได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมาในช่วงนี้ค่ะ ทุกคนลองมาสังเกตดูว่าตัวเรามีอาการเหล่านี้หรือไม่จะได้เป็นประโยชน์ในการป้องกันและหาทางรักษาโรคซึมเศร้าต่อไป
อาการโรคซึมเศร้า
- มีอารมณ์ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้ หมดหวัง กังวลใจตลอดเวลา
- เบื่อหน่าย ทั้งวันไม่อยากทำอะไร หรืออะไรที่เคยทำแล้วสนุกก็ไม่สนุกเหมือนเดิม
- เบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ลง หรือกินมากขึ้นผิดปกติ
- นอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือนอนทั้งวัน นอนมากเกินไป
- คิดช้า พูดช้า ทำอะไรช้าลง รู้สึกหวาดระแวง หงุดหงิด อยู่นิ่งๆ ไม่ได้
- รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร
- สมาธิ ความคิด ความอ่าน ช้าลง
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า โทษตัวเองที่เป็นปัญหา
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดทำร้ายตนเอง ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้เหมือนเดิม ทุกข์ทรมานอย่างเห็นได้ชัด
หากมีอาการแบบนี้อย่างน้อย 5 อาการ และเป็นติดต่อกันถึง 2 อาทิตย์ สันนิษฐานได้เลยค่ะว่าเราหรือคนใกล้ตัวมีอาการของโรคซึมเศร้าแล้วค่ะ หรือหากยังไม่มั่นใจว่าตัวเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่สามารถเข้าไปลองทำแบบทดสอบประเมิณโรคซึมเศร้าของกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต ตามลิงก์นี้ได้เลย แบบประเมินโรคซึมเศร้า
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม, ทางสภาพจิตใจ, ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย
โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์
สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น
การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้
ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้โดยการพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม มีทั้งการใช้ยา การบำบัด หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า เราจึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบตัวว่ามีอาการที่อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากรู้ตัวเร็วก็จะรักษาได้ไว ไม่มีใครอยากได้ยินข่าวร้ายจากผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า