พอเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน คงไม่ต้องพูดถึงสภาพอากาศว่าร้อนระอุแค่ไหน อากาศร้อนๆ แบบนี้มีหลายโรคที่ต้องระวังโดยเฉพาะ “ฮีทสโตรก” ที่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือคนก็สามารถเกิดขึ้นได้ “สพ.ญ. ปาลิดา กีร์ติบุตร” สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ แนะนำวิธีรับมืออาการฮีทสโตรกในน้องหมาและน้องแมวช่วงหน้าร้อน เพื่อให้เจ้าของได้หมั่นสังเกตุหากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเรา
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับโรคฮีทสโตรกก่อนว่าเป็นอย่างไร และมีความอันตรายกับสัตว์เลี้ยงมากน้อยเพียงใด “ฮีทสโตรก” เป็นโรคที่อันตรายมากหากเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคที่ต้องระวังในหน้าร้อนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยงสามารถเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกฤดูกาล เพียงแต่ช่วงหน้าร้อนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกร้อนระอุ การระบายความร้อนของสัตว์เลี้ยงจึงทำได้ยาก
สายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงที่สามารถเป็นฮีทสโตรกได้ง่ายคือ น้องหมาพันธุ์หน้าสั้น แต่สถิติการเกิดอาการนอกจากปัจจัยของสายพันธุ์แล้วยังขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำด้วย หากเจ้าของพาน้องหมาออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง อาทิ วิ่งจนหอบเหนื่อยทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนัก อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ก็สามารถเกิดฮีทสโตรกได้ง่ายเช่นกัน สำหรับเจ้าของที่นำสัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ต้องเตรียมน้ำให้เขากินบ่อยๆ และหมั่นคอยสังเกตและดูพฤติกรรมเขาตลอดเวลา
วิธีสังเกตุอาการบ่งชี้ หากน้องหมาและน้องแมวเกิดอาการฮีทสโตรก อันดับแรกจะมีอาการหอบ หายใจไม่ทัน เหนื่อยอย่างหนัก มึนงง น้ำลายยืด บางรายถึงขั้นจำเจ้าของไม่ได้ และมีอาการดุร้ายชั่วคราว เจ้าของอาจจะคิดว่าฮีทสโตรกดูไม่อันตราย คิดว่าสัตว์เลี้ยงกำลังเล่น กำลังคึกคักมีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วอันตรายมาก ร่างกายเขาตอนนั้นอาจจะระบายความร้อนไม่ทัน จึงต้องแลบลิ้นออกมาเยอะกว่าปกติและมีการหอบ ในบางเคสอาการฮีทสโตรกเกิดขึ้นรวดเร็วมากไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น สัตว์เลี้ยงทนไม่ไหวและเสียชีวิตในที่สุด
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสังเกตุว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการฮีทสโตรกคือ พยายามทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดลง ใช้น้ำอุณหภูมิปกติเช็ดตัวโดยเฉพาะบริเวณผิวหนังใต้อุ้งเท้าและใต้ท้อง เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนดีขึ้น ห้ามใช้น้ำเย็นเด็ดขาด เนื่องจากน้ำเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้การระบายความร้อนเป็นไปได้ยาก ห้ามใช้น้ำอุ่นเนื่องจากจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอาจเกิดภาวะช็อก นอกจากนี้ไม่ควรใช้ผ้าชุบน้ำคลุมตัวสัตว์เลี้ยงเด็ดขาด เนื่องจากทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี และอาจเพิ่มความร้อนให้กับร่างกายสัตว์เลี้ยงได้ รวมทั้งไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไปแช่น้ำในอ่างเพราะอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้
การให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำเย็น หรือน้ำอุณหภูมิห้องในปริมาณทีละน้อย หากให้น้ำในปริมาณมากและเร็วเกินไปก็อาจทำให้อาเจียนได้ รวมทั้งนำสัตว์เลี้ยงไปอยู่ในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทสะดวก อยู่บริเวณห้องที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง จนกว่าจะมั่นใจว่าหายเป็นปกติแล้ว
เมื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนอุณหภูมิร่างกายลดลงแล้ว ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะร่างกายภายนอกอาจจะดูเหมือนเป็นปกติ แต่ระบบร่างกายภายในอาจจะมีบางส่วนที่เสียหายจากความร้อนได้
“ฮีทสโตรก” หากเกิดขึ้นกับน้องหมาและน้องแมว นับว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หมั่นคอยสังเกตุอาการสัตว์เลี้ยงของท่านอยู่เสมอ