เรียกได้ว่าเป็นความเชื่อที่เข้าใจผิดกันมานานเกี่ยวกับการเป็น “ตากุ้งยิง” ว่าที่เป็นเพราะ “การไปแอบดูใคร” แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคจริงๆ
วันนี้ GangBeauty เลยขอมาใขข้อข้องใจเกี่ยวกับ “ตากุ้งยิง” พร้อมวิธีรักษาและป้องกันไม่ให้เป็นตากุ้งยิง ไปดูกันเลย
ตากุ้งยิง คือ ตุ่มฝีเล็กๆ ที่เกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตา ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร พบเกิดได้กับเปลือกตาทั้งสองข้าง โอกาสในการเกิดแต่ละข้างมีใกล้เคียงกัน สามารถเกิดได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักพบว่าเกิดกับเปลือกตาบนมากกว่า เพราะเปลือกตาด้านบนจะมีจำนวนต่อมต่างๆ มากกว่าเปลือกตาล่าง
ตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่างๆ จากต่อมต่างๆ ดังกล่าวบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี
[ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นตากุ้งยิง]
1. ขยี้ตาบ่อยๆ จนเปลือกตามีเชื้อแบคทีเรียหรือฝุ่นเกาะอยู่
2. ล้างเครื่องสำอางบริเวณดวงตาออกไม่หมด
3. ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
4. ใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาด เช็ดดวงตา
5. เช็ดถูดวงตา ด้วยเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
6. ล้างหน้าด้วยน้ำปนเชื่อโรค
7. น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา
8. ฝุ่นละอองในอากาศลอยเข้าตา
[วิธีรักษาตากุ้งยิง]
1. การดูแลตนเองที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น ได้แก่ การงดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิด, งดใส่คอนแทคเลนส์, ห้ามบีบหรือเค้นเพื่อเอาหนองออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น (หากหนองแตกเองให้ล้างบริเวณหนองด้วยน้ำต้มสุก), ไม่ขับรถเองในช่วงเป็นกุ้งยิง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้, ผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิงยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรหมั่นพักสายตาเป็นระยะๆ
2. เมื่อพบว่าเป็นตากุ้งยิงในระยะแรก ควรเช็ดขอบตารอบๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เช็ดจากหัวตาไปหางตา โดยในขณะทำให้หลับตาไว้) และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าอยู่เสมอ
3. ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัดๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัดๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบาๆ โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20-30 นาที (การประคบอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยทำให้ไขมันที่อุดตันต่อมเปิดออก ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น)
4. หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ) ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก
5. ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุกๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
6. ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้า หูโตร่วมด้วย ให้กินยาไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
7. โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา ในบางรายอาจหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของเภสัชกรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการผ่าเอาหนองออก (แต่ทางที่ดีสุดก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง)
8. หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปแพทย์ในทันที ได้แก่ อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์, ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บตา, ก้อนที่เปลือกตาพบว่ามีเลือดออก, พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา, เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด, เปลือกตาแดงหรือตาแดงทั่วไปหมด, สายตาผิดปกติ, มีอาการแพ้แสงแดด และกุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
[วิธีป้องกัน]
1 ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตา ใบหน้า เส้นผม โดยเฉพาะผู้หญิงควรสระผมบ่อยๆ
2 ระวังอย่าให้ผมแยงตา
3 หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตา หรือใช้มือขยี้ตาบ่อยๆ
4 หลีกเลี้ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว เช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น
5 ล้างเครื่องสำอางออกให้หมด โดยเฉพาะบริเวณดวงตา
6 เมื่อสงสัยว่าเป็นตากุ้งยิงให้มาพบแพทย์และไม่ควรขยี้ตาหรือพยายามจะจับ