หลายคนประสบกับปัญหาปวดหลังในบางช่วงเวลาของชีวิต และอาการปวดนั้นทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดและอยากหาวิธีการรักษา วิธีการต่อไปนี้เป็นวิธีที่สามารถช่วย จัดการอาการปวดหลัง อย่างได้ผล
การใช้ยา
การใช้ยาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการปวดหลังที่คุณเป็น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาดังต่อไปนี้
ยาแก้ปวดตามร้านขายยาทั่วไป ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เช่น ไทลีนอล (Tylenol?) หรืออื่นๆ หรือยาแก้อักเสบที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโปรเฟน (ibuprofen) อย่าง แอดวิล (Advil?) มอตรินไอบี (Motrin IB?) หรือ อื่นๆ หรือ ยานาพรอกเซน โซเดียม (naproxen sodium) อย่างอัลลีฟ (Aleve?) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลังรุนแรงได้
ยาคลายกล้ามเนื้อ
ยาทาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่
ยาเสพติด (Narcotics) และยาบางชนิด เช่น โคเดอีน (codeine) หรือ ไฮโดรโคโดน (hydrocodone) อาจนำไปใช้ในระยะสั้นโดยได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressants) ในปริมาณน้อย เช่น ยาแก้ซึมเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิค (tricyclic antidepressants) อย่างอะมิทริปไทลีน (amitriptyline) สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรังบางประเภท โดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่ออาการซึมเศร้า
การฉีดยา หากการรักษาวิธีอื่นไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรือหากอาการปวดแพร่กระจายลงสู่ขา แพทย์อาจใช้วิธีการฉีดยาคอร์ติโซน (cortisone) ซึ่งเป็นยาต้านอาการอักเสบ หรือยาต้านอาการชา โดยฉีดบริเวณกระดูกสันหลัง
การให้คำปรึกษา
ยังไม่มีโปรแกรมที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ในการให้ความรู้กับผู้ที่ปัญหาอาการปวดหลัง ถึงวิธีจัดการกับอาการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การให้คำปรึกษาในที่นี้ จึงอาจหมายถึงการให้ความรู้ในชั้นเรียน การพูดคุยกับหมอ เอกสารหรือวิดิโอให้ความรู้ รวมถึงการเน้นถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย การลดความกังวลและความเครียด และการสอนวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
กายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย
กายภาพบำบัดเป็นการรักษาหลักของอาการปวดหลัง นักกายภาพำบัดสามารถใช้วิธีการต่างๆ เพื่อบำบัดอาการ เช่น ความร้อน อัลตร้าซาวด์ การกระตุ้นด้วยคลื่นไฟฟ้า หรือวิธีการคลายกล้ามเนื้อ ในบริเวณกล้ามเนื้อหลังและเนื้อเยื่ออ่อนเพื่อลดอาการปวด
เมื่ออาการปวดดีขึ้น นักกายภาพบำบัดจะสอนถึงวิธีการบริหารร่างกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง รวมถึงการจัดท่าทางของร่างกายให้ถูกต้อง การเข้ารับการบำบัดเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการปวดกลับมาได้
การผ่าตัด
ผู้ป่วยบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหลัง หากคุณมีอาการเจ็บหลังต่อเนื่องร่วมกับอาการเจ็บแปลบบริเวณขา รวมถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ คุณอาจเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด หากไม่เกิดอาการที่กล่าวมา การผ่าตัดจะใช้ในการรักษาอาการเจ็บที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางโครงสร้างเช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal stenosis) หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (herniated disk) ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
วิธีการอื่นที่ช่วยจัดการกับอาการปวดหลัง
ประคบเย็น การใช้น้ำแข็งประคบจะให้ผลดีที่สุดใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการบาดเจ็บ เพราะน้ำแข็งช่วยลดการอักเสบ หลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว อาจเปลี่ยนมาใช้ความร้อนประคบ ไม่ว่าจะเป็นการประคบเย็นหรือร้อน ควรหยุดประคบหลังจากทำการประคบไปแล้ว 20 นาที เพื่อให้ผิวหนังได้พัก หากอาการปวดยังคงอยู่ ควรไปพบหมอ
เคลื่อนไหวอยู่เสมอ การออกกำลังกายประเภทแอโรบิคเป็นประจำ เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน และการเดิน ช่วยให้คุณและหลังของคุณเคลื่อนไหว แต่อย่าหักโหมมากเกินไป คุณไม่ควรวิ่งมาราธอน หากมีอาการบาดเจ็บที่หลัง
ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ การมีกล้ามเนื้อสะโพก กระดูกเชิงกราน และท้องที่แข็งแรง ช่วยรองรับหลังได้มาก ควรหลีกเลี่ยงการทำท่าซิทอัพ เพราะเป็นการเพิ่มแรงกดทับบริเวณหลังของคุณ
ยืดกล้ามเนื้อ อย่าลืมยืดกล้ามเนื้อขา หลายคนพบว่าอาการปวดหลังทุเลาลงได้ เมื่อมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ เช่น การเล่นโยคะ
ควรคิดถึงหลักการยศาสตร์ (Ergonomic) หรือศาสตร์การปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานให้เหมาะกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งควรออกแบบพื้นที่ทำงานที่คุณจะไม่ต้องก้ม หรือโน้มตัวเข้าหาหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเอื้อมไปจับเมาส์
ระมัดระวังท่าทาง อย่าโน้มตัวหรือก้มตัวตั้งแต่เอว แต่ควรใช้วิธีการย่อเข่าแทน
สวมรองเท้าส้นเตี้ย ควรเปลี่ยนจากการใส่รองเท้าส้นสูง 4 นิ้ว มาเป็นการสวมรองเท้าไม่มีส้นหรือส้นเตี้ย (สูงน้อยกว่า 1 นิ้ว) การสวมรองเท้าส้นสูงทำให้การวางท่าทางไม่มั่นคง และเพิ่มการกดทับบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง
เลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อหลัง
การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ที่กระดูกสันหลัง และทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกอื่นๆ ด้วย
ควบคุมน้ำหนัก ควรควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อให้น้ำหนักสมดุลกับส่วนสูง น้ำหนักที่มากเกินไปจะเพิ่มแรงกดทับบริเวณกระดูกสันหลัง
ควรพบหมอเมื่อใด
เมื่อหลังส่วนล่างเกิดการบาดเจ็บรุนแรง อาการไม่ดีขึ้นหลังจากเกิดอาการแรกสองถึงสามวัน หรือเจ็บมากขึ้นเมื่อนอนราบ
รู้สึกถึงอาการอ่อนแรงหรือชาที่ขา หรือมีปัญหาด้านการยืนหรือเดิน
สูญเสียการควบคุมการขับถ่าย
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเกี่ยวกับปัญหาทางระบบประสาท หรืออาการของโรคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา