“มะเร็งเต้านม” แค่ได้ยินชื่อมันคุณสาวๆต่างก็รู้ถึงความร้ายแรงของเจ้าโรคนี้ดี แถมมะเร็งเต้านมยังเป็นโรคมะเร็งอันดับที่ 1-2 เลยที่พบในผู้หญิง จะเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป และจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
วันนี้ GangBeauty มีวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ 3 วิธีมากฝากให้สาวๆลองตรวจดู อย่ากลัวที่จะตรวจ เพราะถ้าเกิดเป็นขึ้นมาการตรวจเจอโรคเร็วเท่าไหร่เราก็มีสิทธิ์หายขาดได้มากกว่าการเป็นหนักแล้วมารักษา ที่นี้เราไปดูกันเลยว่าขั้นตอนมีอะไรบ้าง…
1. การดูเต้านมหน้ากระจก
ให้ยืนตัวตรงมือแนบลำตัว แล้วสังเกตลักษณะของเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน มีแผลหรือมีเส้นเลือดใต้ผิวมากขึ้นผิดปกติ
โดยการสังเกตนั้นให้ทำการเปรียบเทียบเต้านมทั้ง 2 ข้างว่าแตกต่างไปจากเดิมหรือผิดไปจากอีกข้างหรือไม่ (เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพียงข้างเดียว) แล้วทำการหันตัวเล็กน้อยเพื่อให้มองได้เห็นด้านข้างของเต้านมได้ชัดเจนขึ้น แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
จากนั้นให้ยกมือขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสังเกตดูความผิดปกติของรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้ง เพราะในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งของเนื้อเยื่อและทำให้เกิดรอยบุ๋มได้ ต่อมาให้เอามือเท้าสะเอวเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนัง เมื่อไม่พบความผิดปกติจากการสังเกตที่เต้านมแล้ว ให้ทำในขั้นตอนถัดไป
2. การคลำเต้านมในท่านั่ง
ให้ตรวจให้ทั่วพื้นที่ของบริเวณเต้านมโดยรอบ โดยการใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง (บริเวณที่ค่อนไปทางปลายนิ้ว เพราะเป็นตำแหน่งที่ไวต่อการสัมผัส) การคลำเต้านมให้คลำในลักษณะคลึงเป็นก้นหอยเล็กๆ ไปตามเต้านม เนื่องจากตำแหน่งของเต้านมที่อยู่บนผนังหน้าอกเป็นตำแหน่งที่สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมได้
ต่อมาให้สังเกตความผิดปกติว่ามีของเหลวหรือเลือดออกมาจากหัวนมในขณะที่กดบริเวณปานนมหรือไม่ (การบีบบริเวณหัวนมควรทำอย่างเบามือ เพราะถ้ามีความผิดปกติจริงจะพบว่ามีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนมเมื่อมีการกดได้โดยไม่ต้องบีบเค้น)
จากนั้นให้ใช้นิ้วมือคลำบริเวณเต้านมส่วนที่อยู่ใต้รักแร้ว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติหรือไม่ (ให้ห้อยแขนลงมาเพื่อให้กล้ามอกหย่อนลง จะได้คลำรักแร้ได้อย่างชัดเจน)
3. การคลำเต้านมในท่านอน
ต่อจากท่านั่งให้ใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักหลัง เพื่อให้หน้าอกด้านหน้าแอ่นขึ้น ยกแขนหนุนศีรษะ แล้วใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง (เช่น ถ้าจะคลำเต้านมซ้ายก็ให้ใช้มือขวาคลำ)
ส่วนวิธีการคลำนั้นให้ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลำในลักษณะคลึงวนเป็นก้นหอยเล็กๆ บริเวณเต้านมให้ทั่ว (ให้ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม จะคลำตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้) ในระดับความแรง 3 ระดับ คือ ระดับตื้นลงไปจากผิวหนังเล็กน้อย ระดับลึกลงไปอีก และระดับที่ลึกถึงผนังหน้าอก แล้วสังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบได้ที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่นๆ
ดังนั้น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด) สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้วิธีนอนตะแคงโดยเอาด้านข้างของลำตัวด้านนั้นให้สูงขึ้น เพื่อที่จะคลำด้านข้างได้ชัดเจน เนื่องจากเนื้อของเต้านมจะไปกองอยู่ที่บริเวณด้านข้างจนทำให้คลำได้ยาก หรือจะใช้วิธีคลำลงล่างและขึ้นบนไปมาจนทั่วบริเวณ แล้วนอนหงายเพื่อคลำด้านในให้ทั่วเช่นเดียวกัน
ข้อแนะนำในการตรวจนะคะ
– อายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง (ตามวิธีการที่แนะนำไว้ข้างต้น)
– อายุ 20-40 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี และอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี
– อายุ 35-40 ปี ควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (ก่อนคลำได้ก้อน) ด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (Mammography) เป็นครั้งแรกไว้เป็นพื้นฐาน เมื่ออายุ 40-49 ปี ควรตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี และหลังจากอายุ 50 ปี ไปแล้ว ควรตรวจซ้ำเป็นประจำทุกปี ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น คนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นโรคนี้ ฯลฯ) อาจจำเป็นต้องตรวจถี่ขึ้นมากกว่าปกติ