ผอมแต่มีพุง ยังไงก็ดูหุ่นไม่ดี แนะนำให้เลี่ยงนิสัยที่ทำให้มีพุงเหล่านี้ด่วน !
ถึงจะเป็นคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด รูปร่างก็ดูไม่ได้อ้วนตรงไหน แม้จะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือคุมอาหารสักเท่าไร แต่นั่นอาจไม่ใช่ความโชคดีที่เป็นคนกินแล้วไม่อ้วนก็ได้นะคะ เพราะถ้าผอมแต่มีพุง ก็ไม่ต่างอะไรจากคนอ้วนคนหนึ่ง ซึ่งก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพติดตัวอยู่ด้วย และถ้า 6 นิสัยเหล่านี้เช็กแล้วใช่ ก็มั่นใจได้เลยว่าคุณอยู่ในเคสคนผอมแต่มีพุง หรือ Skinny Fat ได้เวลาหาวิธีลดพุงให้ตัวเองแล้วล่ะ
1. คุณมีมัฟฟิน ท็อป ติดอยู่ที่เอว
มัฟฟิน ท็อป (Muffin top) คือ เนื้อที่ปลิ้นออกมาตรงช่วงรอบเอว ดูแล้วเหมือนคนสวมห่วงยางติดตัวตลอดเวลา ซึ่งการศึกษาจาก Annals of Internal Medicine ก็เตือนว่า คนที่มีภาวะน้ำหนักตัวโดยรวมเป็นปกติ แต่มีไขมันส่วนเกินสะสมที่ช่วงเอวแบบนี้ มีแนวโน้มอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าคนที่อ้วนแบบเห็นกันจะจะ หรือเป็นคนที่รู้ชัดจากลักษณะภายนอกว่ามีน้ำหนักตัวเกินซะด้วยซ้ำ
เห็นไหมล่ะ บอกว่าแล้วว่าถึงตัวจะผอมก็อย่าชะล่าใจ ผอมแต่มีพุงก็อันตรายใช่ย่อยนะจ๊ะ
2. ออกกำลังกายประจำ แต่ไม่เคยทำท่าวิดพื้น !
โดยปกติคนที่คิดว่าตัวเองมีรูปร่างดีอยู่แล้ว ก็มักจะออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการทำงานหัวใจ เน้นหนักไปทางคาร์ดิโอ อย่างการปั่นจักรยาน การวิ่ง ซึ่งก็มีผลทำให้หัวใจและปอดเฮลธ์ตี้ แต่กล้ามเนื้อและไขมันสะสมในชั้นกล้ามเนื้อไม่ได้ถูกเบิร์นไปมากสักเท่าไร เพราะไม่เคยสนใจจะฟิตกล้ามเนื้อด้วยการวิดพื้น หรือเวทเทรนนิ่งอื่นๆ เลย ซึ่งนั่นอาจทำให้พลาดการกระตุ้นระบบเผาผลาญ และการเบิร์นไขมันอันตราย จนทำให้มีรูปร่างผอมแต่มีพุง ดูไม่กระชับ
3. ควบคุมน้ำหนักอยู่ตลอด แต่กลับไม่ออกกำลังกาย
รูปร่างผอม สมส่วน ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะงดเว้นการออกกำลังกายได้หรอกนะคะ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมกันได้ และแน่นอนว่าแม้จะผอม น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ยังแบกความเสี่ยงไว้อยู่ตลอด ยิ่งหากเป็นคนที่แค่คุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน แต่ไม่ค่อยจะขยันออกกำลังกายเลย พุงที่ยื่นมานิดๆ นั่นล่ะคือความเสี่ยงของสารพัดโรคที่คุณแบกไว้อยู่
4. ติดกินอาหารไม่มีประโยชน์
น้ำหวาน ขนม ฟาสต์ฟู้ด บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง ถ้าเป็นสไตล์การรับประทานอาหารที่คุณโปรดปราน ก็ไม่น่าแปลกใจหากคุณจะเป็นคนผอมแต่มีพุง นอกจากนี้พฤติกรรมอดอาหาร ข้ามมื้ออาหาร หรือเป็นคนคลั่งกินคลีน ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะผอมแต่มีพุง และอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาได้ ไม่ต่างจากคนอ้วนๆ เลย
5. โฟกัสแต่ตัวเลขน้ำหนักบนตาชั่ง
หลายคนโฟกัสแต่เลขน้ำหนักตัวบนตาชั่ง ซึ่งแปลได้ว่าคุณกำลังหลงประเด็นอยู่ เพราะการออกกำลังและฟิตกล้ามเนื้อให้มีสุขภาพดี ควรโฟกัสที่รูปร่างของเรามากกว่า เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายเบิร์นไขมัน แล้วเปลี่ยนเป็นมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งนั่นอาจทำให้น้ำหนักตัวเราไม่ลดลงสักเท่าไร หรือบางคนยิ่งออกกำลังกายยิ่งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทว่าหากแลกกับรูปร่างลีนๆ ฟิตๆ ไม่ใช่รูปร่างผอมแต่มีพุง ก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้มนะจ๊ะ
6. คิดว่าค่า BMI ดี ชีวิตก็ดีด้วย
ค่า BMI หรือดัชนีมวลกายบางทีก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดสุขภาพที่ดีเสมอไป ดังการศึกษาจาก McMaster University เมื่อปี 2011 ที่บ่งชี้ว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ชาวอินเดียและชาวจีน) มีไขมันสะสมในอวัยวะภายในค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนผิวขาวที่มีค่า BMI เฉลี่ยเท่าๆ กัน ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า นอกจากจะมีปัจจัยในเรื่องยีนที่ส่งผลต่อการสะสมไขมันในร่างกายแล้ว ยังมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมการรับประทานอาหารมาเกี่ยวข้องด้วย
แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ทว่าหากสามารถควบคุมอาหารได้ดี รับประทานแต่เฮลธ์ตี้ฟู้ด และขยันออกกำลังกาย สุขภาพร่างกายเราก็จะดีได้ ไม่ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงใดก็ตาม
หากก้มลงมองที่หน้าท้องแล้วเห็นพุงกะทิยื่นออกมานิดๆ ก็ไม่ควรชะล่าใจแล้วนะคะ เอาเป็นว่ามาออกกำลังกายลดพุงกันดีกว่า ตามวิธีลดพุงเหล่านี้เลย จัดไป !