ฉี่เป็นฟอง หรือปัสสาวะมีลักษณะแปลกไป ไม่ว่าจะเป็นสีปัสสาวะผิดปกติ หรือปัสสาวะออกมาพร้อมกับฟองสีขาวๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณสุขภาพได้ทั้งนั้น
ถ้าลองสังเกตปัสสาวะของตัวเองแล้วมักจะเห็นว่าปัสสาวะเป็นฟองอยู่บ่อยครั้ง ภาวะนี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยบางเคสการที่ฉี่เป็นฟองอาจไม่ใช่สัญญาณบอกโรค แต่เป็นเพียงความผิดปกติเล็กน้อยทางกายภาพ พฤติกรรมการบริโภค รวมทั้งปัจจัยทางเคมีกับสุขภัณฑ์ ทว่าในบางเคส การปัสสาวะออกมาเป็นฟองก็บอกโรคได้เช่นกัน อย่างโรคไต ภาวะครรภ์เป็นพิษ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
แต่ก่อนจะวิตกกังวลมากเกินไป ลองมาเช็กกันค่ะว่า ปัสสาวะเป็นฟองเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วคุณเข้าข่ายเสี่ยงไหม
ปัสสาวะเป็นฟองเกิดจากอะไร
อย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นแล้วว่า อาการปัสสาวะเป็นฟองเกิดได้ทั้งในขณะภาวะร่างกายเป็นปกติ และภาวะที่ร่างกายผิดปกติ ซึ่งก็จำแนกได้ดังนี้
อาการฉี่เป็นฟองในภาวะปกติ เกิดจาก
– ปัสสาวะแรง จากการเบ่งหรืออกแรงขณะปัสสาวะ หรืออาจเป็นเพราะกลั้นปัสสาวะไว้นานจนทำให้แรงดันของท่อปัสสาวะเพิ่มขึ้น
– ดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีสารทำให้ปัสสาวะเป็นฟอง เช่น เบียร์ เป็นต้น
– ดื่มน้ำน้อยจนเกิดภาวะขาดน้ำ
– โปรตีนที่ผสมอยู่มากเกินไปในปัสสาวะ ทำปฏิกิริยากับน้ำจนเกิดเป็นฟอง โดยเฉพาะเพศชายที่เพิ่งผ่านการมีเพศสัมพันธ์ อาจมีการปนเปื้อนของอสุจิซึ่งอสุจิก็มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหนึ่ง หรือในผู้ที่กินโปรตีนมากกว่าปกติ เช่น นักเพาะกาย คนเล่นกล้าม
– ยาบางชนิดที่มีสารเคมี เช่น ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม
– ออกกำลังกายหรือใช้แรงอย่างหนัก
– ใช้สารเคมีล้างโถส้วมก่อนปัสสาวะ
อาการฉี่เป็นฟองในภาวะผิดปกติ เกิดจาก
– มีโปรตีนในปัสสาวะสูงมากจนเสี่ยงโรคไต ทั้งนี้ควรตรวจสอบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตัวบวม มือ เท้า บวม ฉี่เป็นเลือดและมีฟองมาก มีอาการอ่อนเพลีย ร่วมกับอาการปวดหลังและบั้นเอว
– ภาวะโปรตีนสูงในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเสี่ยงกับอาการครรภ์เป็นพิษ
– ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
– ภาวะทางเดินกระเพาะปัสสาวะเชื่อมต่อกับลำไส้ทะลุ (Vesicointestinal fistula)
และหากมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะบ่อย สีปัสสาวะขุ่น ทั้งยังรู้สึกปวดแสบเมื่อปัสสาวะ หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ
ปัสสาวะเป็นฟอง รักษายังไง
สำหรับการรักษาอาการปัสสาวะเป็นฟอง อาจทำได้โดยควบคุมการบริโภคอาหาร ยา เครื่องดื่ม และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้
1. จำกัดการบริโภคโปรตีนให้ร่างกายได้รับโปรตีนโดยเฉลี่ย 45-70 กรัมต่อวัน
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยสังเกตความต้องการน้ำของร่างกายได้จากสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะมีสีอ่อนเกือบใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอแล้ว ทว่าหากปัสสาวะยังมีสีเหลืองจัด นั่นแปลว่าร่างกายต้องการน้ำเพิ่มขึ้น
3. ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะกระตุ้นอาการความเสี่ยงโรคไต และอาจทำให้ไตทำงานหนักได้
4. หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่อาจเกิดการตกตะกอนจนก่อฟองในปัสสาวะ เช่น ยาปฏิชีวนะ จำพวกเจนตามัยซิน คานามัยซิน หรือยาซัลฟา และยาที่เข้าพวกโลหะหนัก เป็นต้น
5. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสังเกตปัสสาวะตัวเองด้วยว่า ปัสสาวะเป็นฟองบ่อยแค่ไหน แล้วฟองหายไปได้เองหรือยังคงเป็นฟองค้างอยู่นาน (โดยอาจตรวจปัสสาวะด้วยการตวงปัสสาวะเพื่อมาสังเกตก็ได้) ซึ่งโดยปกติแล้วฟองจะหายไปได้เองภายในไม่กี่นาทีนะคะ
และในเคสที่ปัสสาวะเป็นฟอง 2-3 ครั้งติดกัน รวมทั้งมีอาการผิดปกติทางร่างกายอย่างอื่นร่วมด้วย ควรรีบไปเช็กความผิดปกติกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เราจะได้รู้ต้นสายปลายเหตุและรักษาได้ทัน ในกรณีที่ปัสสาวะเป็นฟองเป็นสัญญาณบอกโรค