เคยสังเกตตัวเองไหมว่าทุกครั้งตอนทานข้าวเราเป็นคนที่ชอบทานเร็วหรือทานช้า รู้ไหมว่าพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพที่ดี โดยผู้ที่มีนิสัยทานเร็วมักมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนมีไขมันสะสมมากกว่าคนทานอาหารปกติช้าๆถึง 4.4 เท่า นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารยังส่งผลไปถึงการทำงานของระบบการย่อยอาหาร รวมไปถึงการต่อต้านริ้วรอยของผิวสวย แล้วการเคี้ยวอาหารช้าหรือเร็วจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆอย่างไรบ้างเราตามไปไขความลับสุขภาพเรื่องนี้พร้อมๆกันเลยค่ะ
ทานเร็วมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคอ้วน?
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Okayama ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจศึกษานักศึกษาประมาณ 2,000 คน ในปี 2010 โดยทดสอบพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารที่รวดเร็วโดยวัดปริมาณความสูงน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลา 3 ปี พบว่า ในบรรดาผู้ทดสอบ 1,314 คนมีค่าดัชนีมวลกายที่สูงเกินมาตรฐานและถูกจัดอยู่ในกลุ่มของโรคอ้วนซึ่งทุกคนมีพฤติกรรมการทานอาหารทุกชนิดที่รวดเร็วติดต่อกันเป็นประจำทำให้เกิดโอกาสการเป็นโรคอ้วนมากกว่านักเรียนคนอื่นถึง 4.4 เท่า เลยทีเดียว
การทานอาหารใช้เวลามากกว่า 30 นาที เป็นเวลาที่ดี
ระยะเวลาในการทานอาหารเป็นอีกหนึ่งตัวกำหนดที่ทำให้เรารู้ว่า ณ ขณะนั้นเราทานเคี้ยวอาหารแบบรวดเร็วหรือช้าแบบพอดี โดยทั่วไปแล้วการทานอาหารที่ดีในแต่ละมื้อควรใช้เวลาประมาณ 30 นาที เพื่อทำให้ระบบย่อยอาหารค่อยๆทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระของกระบวนการย่อยทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ง่ายขึ้น หากเราใช้เวลาในการทานประมาณ 30 นาที ช่วง 20 นาทีแรกสมองจะเริ่มสั่งการให้กระเพาะอิ่ม ทำให้เราทานอาหารได้แบบพอดีไม่มากเกินไป หากทานเร็วเกินไปจะทำให้เรารู้สึกหิวทานอาหารเกินความต้องการจนทำให้ร่างกายได้รับพลังงานส่วนเกินสะสมเป็นไขมันเกิดเป็นโรคอ้วนตามมา
4 ประโยชน์ของการเคี้ยวอาหารช้า ๆ
1. ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
การศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเกียวโตและศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติในประเทศญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีเวลาในการทานอาหารที่นาน เคี้ยวอาหารอย่างใจเย็นช้าๆ มีแนวโน้มลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้เป็นอย่างดี เพราะการทานเร็วเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการดื้อต่ออินซูลินที่สูงขึ้น ซึ่งหากร่างกายของคนเรามีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินในระดับสูง นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนของภาวะโรคเบาหวานประเภท 2ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ดี
2.ช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบย่อยอาหาร
การเคี้ยวอาหารที่ช้าลงทำให้ระบบย่อยอาหารค่อยๆรับอาหารทำการย่อยทีละเล็กทีละน้อยแบบไม่หักโหม ทำให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้ดี กระเพาะทำงานไม่หนักเกินไป ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารที่ดี การรับประทานอาหารแบบรวดเร็วอาจทำให้อาหารต่างๆเป็นชิ้นใหญ่ไม่ละเอียด อาจมีผลให้ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ทำให้อวัยวะภายในระบบย่อยอาหารไม่สามารถย่อยอาหารได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา
3.ช่วยปรับปรุงอารมณ์ จิตใจที่ดี
การเคี้ยวช้าๆสามารถกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำเหลืองและส่งเสริมการหลั่งฮอร์โมนในหูช่วยส่งผลดีต่อการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน กระตุ้นต่อมนำลายและต่อมใต้หูให้หลั่งฮอร์โมนออกมาอย่าสมดุลกัน ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ อารมณ์และการทำงานของสมอง ลดภาวะเครียดที่กระตุ้นทำให้เกิดริ้วรอยตามใบหน้าก่อนวัยได้
4.ช่วยควบคุมน้ำหนัก
การเคี้ยวอาหารเร็วไม่ละเอียดเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคอ้วน เพราะนิสัยการทานเร็วทำให้เรารับประทานอาหารได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้จักอิ่ม การปรับปรุงการเคี้ยวอาหารให้นานขึ้นช้าลงจะทำให้เรารู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น อิ่มท้องไม่ทานจุกจิก ทำให้เราสามารถควบคุมน้ำหนักได้ดี ลดปัญหาไขมันสะสมป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนให้น้อยลง
อย่าได้มองข้ามพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เลยนะคะ สิ่งที่เราเผลอทำทุกวันอยู่ตลอดอาจกลายเป็นภัยร้ายทำลายสุขภาพ อยากมีสุขภาพดีห่างไกลโรค พร้อมทั้งมีหุ่นสวยอย่าลืมฝึกเคี้ยวอาหารช้าๆ ทานให้นานขึ้นกว่าเดิมกันนะ