1. ลมหายใจติดขัด
หมู่นี้คุณต้องหอบหายใจเมื่อก้าวขึ้นบันไดรึเปล่า? นี่อาจไม่ใช่เพราะร้างลาจากฟิตเนสเท่านั้นนะ ตัวอ่อนในครรภ์ต้องการออกซิเจน ร่างกายของคุณจึงต้องพยายามหายใจเอาอากาศเข้าไปให้มากขึ้น ปกติแล้ว อาการหายใจขัดมักเริ่มต้นในช่วงไตรมาสสอง แต่คุณแม่บางคนก็อาจเริ่มหอบเหนื่อยได้ตั้งแต่ช่วงแรก อาการนี้จะต่อเนื่องไปตลอด 9 เดือนของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่มดลูกขยายใหญ่จะเบียดพื้นที่ในช่องอก จะยิ่งรู้สึกอึดอัด
2. เจ็บหน้าอก
อาการคัดตึงเต้านมเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกได้ว่ามีอาการคัดตึงเต้านม หรือรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณหัวนม ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์แรก ตลอด 9 เดือน หน้าอกของคุณจะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นและหนักขึ้นไปตามอายุครรภ์ หน้าอกอาจนุ่มขึ้น, วงปานนมมีสีเข้มขึ้น หรือเห็นเส้นเลือดดำบริเวณเต้านมได้ชัดเจน
3. อ่อนเพลีย
ทั้งที่มีหนังสือนิยายสืบสวนเล่มใหม่อยู่ในมือ แต่อ่านไปได้ 4-5 หน้าก็ต้องปิดไฟเข้านอนเสียแล้ว ความอ่อนเพลียนี้เป็นผลจากระดับฮอร์โมน และจะต่อเนื่องไปจนหมดไตรมาสที่หนึ่ง กว่าจะทุเลาก็เมื่อเข้าไตรมาสที่สองแล้วนั่นแหละ
ระหว่างนี้ก็รีบเข้านอนเร็วๆ, กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก, โปรตีน และดื่มน้ำให้มากขึ้น แต่ต้องเลี่ยงชากาแฟ และขนมหวาน
4. คลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนมักเริ่มต้นในสัปดาห์ที่หกหลังการปฏิสนธิ แต่คุณแม่บางคนก็อาจอออกอาการตั้งแต่ช่วงแรก สาวๆ ส่วนใหญ่รู้สึกคลื่นไส้ในตอนเช้า แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่โชคร้ายหน่อย เพราะต้องวิ่งเข้าห้องน้ำไปอาเจียนทั้งเช้า-กลางวัน-เย็น
5. ปัสสาวะบ่อย
ง่วงแทบลืมตาไม่ขึ้น แต่ก็ต้องลุกไปห้องน้ำกลางดึกอยู่บ่อยๆ นี่อาจเป็นสัญญาณการตั้งครรภ์ เพราะร่างกายของแม่ตั้งครรภ์จะผลิตเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น ไตจึงต้องขับของเสียมากขึ้น ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะรองรับของเหลวมากขึ้นตามไปด้วย
6. ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์รองจากอาการคลื่นไส้อาเจียน ตัวการหลักก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามเคย แต่คุณแม่บางท่านที่มีอาการไมเกรนหรือไซนัสอยู่ก่อนแล้ว อาการอาจยิ่งรุนแรงขึ้นได้ คุณแม่อาจกินยาแก้ปวดพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ก็ควรดูแลร่างกายด้วยการกินอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับสภาพแวดล้อม (คุณแม่ที่มีอาการปวดศีรษะหลายคนบอกว่า แสงจ้าๆ จะยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกปวด หากคุณมีอาการเช่นนี้ ก็ควรเอาม่านหน้าต่างลง หรือปิดไฟบางดวงไปบ้าง) และผ่อนคลายจิตใจด้วย
7. ปวดหลัง
ถ้าแผ่นหลังส่วนล่างรู้สึกเจ็บ นี่อาจเป็นเพราะเส้นเอ็นบริเวณนั้นเริ่มคลายตัวเพื่อรองรับสรีระที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง อาการปวดหลังนี้จะทวีขึ้นขณะที่น้ำหนักตัวของคุณค่อยๆ เพิ่มขึ้น พักผ่อนให้มาก และเริ่มต้นบริหารกล้ามเนื้อแผ่นหลังเสียแต่วันนี้
8. อยากอาหาร/เบื่ออาหาร
โหยของเปรี้ยวๆ ที่ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ได้ชะงัด แต่ดันเอียนปลานึ่งของโปรดเสียอย่างนั้น ผลการวิจัยชี้ว่า คุณแม่ตั้งครรภ์กว่าร้อยละ 90 จะอยากกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ (คุณแม่ฝรั่งส่วนใหญ่จะโหยไอศครีม ขณะที่คุณแม่ชาวเอเซียชื่นชอบผลไม้มากกว่า) ตรงกันข้าม คุณแม่ร้อยละ 50-85 จะเกิดอาการเกลียดอาหารบางชนิด
9. ท้องผูก/ตัวบวม
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วยังใส่ยีนส์ตัวเก่งได้อยู่เลย ไหงอาทิตย์นี้ยัดไม่เข้า? ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจไปกระตุ้นให้กระบวนการย่อยอาหารและขับถ่ายทำงานช้าลง พาให้ท้องผูกและตัวบวมอย่างนี้แหละ ลองดื่มน้ำให้มากขึ้น และกินอาหารที่มีกากไย หรือกินอาหารที่ช่วยระบาย เช่น กล้วยน้ำว้า ดูนะ
10. อารมณ์เหวี่ยง
แค่คุณสามีถอดถุงเท้าวางเกะกะก็ทำให้อารมณ์จี๊ดได้แล้ว ช่วงนี้เป็นบ่อยจนชักรำคาญตัวเอง สาเหตุก็คือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอีกนั่นแหละ จะว่าไปก็เป็นอาการปกติช่วงก่อนมีประจำเดือน แต่แม่ท้องจะอารมณ์เหวี่ยงนานกว่า และดูรุนแรงกว่า
11. อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
ปกติแล้ว ก่อนมีประจำเดือน 2 สัปดาห์ อุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงมักจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าผ่านช่วงที่ประจำเดือนน่าจะมาไปแล้ว (และประจำเดือนไม่มา) และอุณหภูมิร่างกายยังสูงเท่าเดิม ก็อาจแปลว่าคุณกำลังจะมีข่าวดี
12. จมูกไว
ผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้คุณกลายเป็นคนจมูกไว ได้กลิ่นอะไรก็พานเหม็นจนอยากอาเจียนไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นจากถังขยะ (ทีนี้คุณสามีก็ต้องเป็นคนหิ้วไปทิ้งละ), กลิ่นกาแฟถ้วยโปรด, หรือแม้แต่น้ำหอมที่เคยชอบ.
13. หน้ามืดเป็นลม
ปริมาณน้ำตาลหรือความดันโลหิตที่ลดลง อาจส่งผลให้คุณรู้สึกหน้ามืดตาลายได้ อย่าลืมกินอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอด้วยนะ
14. เลือดไหล
ถ้าเป็นเลือดใสๆ ที่ไหลออกมาช่วง 2-3 วันก่อนถึงวันที่ประจำเดือนควรจะมา อาจเป็นเลือดที่เกิดระหว่างที่ตัวอ่อนฝังตัวบนผนังมดลูก แบบนี้ก็ไม่ใช่ประจำเดือนหรอกนะ
15. ประจำเดือนมาช้า
ถ้าประจำเดือนมาช้ามากกว่า 10 วัน ก็ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาลองตรวจดูได้แล้วละ