อาการปวดหลังเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และบ่อยครั้งที่อาการปวดหลัง ก็ไม่ได้เกิดมาจากที่หลังของเราโดยตรง แต่สามารถเป็นผลกระทบมาจากอาการปวดในที่อื่น หรือจากโรคบางอย่างก็เป็นได้ มาทำความรู้จักกับ 7 สาเหตุที่ทำให้เกิด อาการปวดหลังในผู้หญิง เพื่อที่จะรักษาได้อย่างถูกจุด
1.โรคปวดก้นกบ
โรคปวดก้นกบ (Coccydynia) มีผลต่อผู้หญิงทุกวัย แต่ผู้หญิงวัย 40 ปีเป็นอายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการ โดยอาการของโรคปวดก้นกบจะหายไปภายในสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ ทำให้คุณไม่สามารถขับรถหรือก้มตัวโดยไม่เจ็บปวด อาการของโรคปวดก้นกบคือจะค่อยๆ เจ็บปวดบริเวณก้นกบ หรือเกิดขึ้นทันที หลังจากได้รับผลกระทบบริเวณปลายสุดของกระดูกสันหลัง กระดูกก้นกบมักจะเจ็บเมื่อสัมผัส นั่ง หรือได้รับแรงกดบนบริเวณที่เจ็บ นอกจากนี้อาการท้องผูกจะเพิ่มความเจ็บปวด แต่อาการปวดจะลดลงหลังจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคปวดก้นกบมากกว่าผู้ชาย 5 เท่า เนื่องจากการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และตำแหน่งของกระดูกก้นกบที่ได้รับการป้องกันน้อยในผู้หญิง ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ถึงแม้ว่าโรคกระดูกก้นกบส่วนใหญ่จะเกิดจากการคลอดบุตร หรือการล้มไปด้านหลัง คุณหมอก็ยังคงไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้ทุกครั้ง แต่สาเหตุอาจเกิดจากการที่กระดูกก้นกบไม่ยืดหยุ่นพอ ที่จะโค้งงอเนื่องจากแรงกดดัน ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่กระดูกต้นกบและเส้นเอ็นบริเวณใกล้เคือง หรือบาดเจ็บทั้งสองส่วน
2. กระดูกยุบตัวเนื่องจากกระดูกพรุน
ผู้หญิงมีแนวโน้มเกือบ 2 เท่า ที่จะเป็นโรคกระดูกยุบตัว (Conpression Fractre) มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโรคกระดูกยุบตัวมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และผู้หญิงมีแนวโน้มมากกว่าที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ถ้าคุณอายุมากกว่า 45 ปี และมีอาการปวดหลังฉับพลันและปวดรุนแรง โดยเฉพาะถ้าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน คุณควรไปหาพบหมอโดยเร็ว ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวกระดูกหัก เป็นโรคกระดูกพรุน และมีโครงสร้างร่างกายเล็ก ถึงแม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกเจ็บปวด ก็ควรไปพบหมอหลังจากมีภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว เนื่องจากการบาดเจ็บอาจจำกัดการเคลื่อนไหวของคุณ
3. ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง
ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังและปวดขาได้ โดยเมื่อกระดูกสันหลังส่วนล่าง (เอวล่าง) ของคุณเคลื่อนไปข้างหน้า และไปอยู่เหนือกระดูกที่อยู่ด้านล่าง คุณจะเกิดภาวะที่เรียกว่า โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) หรือกระดูกสันหลังเลื่อน การเคลื่อนที่ของกระดูกสันหลังอาจระคายเคืองรากของกระดูกบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดที่หลังส่วนล่างและขา อาการของโรคบางครั้งได้แก่ มีอาการเจ็บหรือรู้สึกขาไม่มีแรง ตอนเดินหรือยืน การนั่งลงมักจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ ความเจ็บปวดจากโรคกระดูกสันหลังอาจรุนแรงขึ้น จนส่งผลต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคุณ โรคหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อม มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีสัดส่วนมากกว่า 3 ต่อ 1 ในการเป็นโรคนี้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากกว่า เนื่องจากความแตกต่างของอุ้งเชิงกราน และการเป็นโรคกระดูกพรุน ที่ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลัง มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีอายุ 50 ปีหรือมากกว่า ความเสื่อมของข้อต่อและเส้นเอ็นเนื่องจากอายุ ส่งผลให้กระดูกสันหลังยากที่จะอยู่ในแนวตรง ทำให้เกิดเป็นโรคหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อม
4. กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) เป็นโรคที่แพร่หลายมากที่สุดในผู้หญิงวัย 40-60 ปี โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 6 เท่า คุณหมอไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่า ทำไมผู้หญิงจึงเป็นโรคนี้ แต่ความแตกต่างของร่างกายผู้หญิงกับผู้ชาย โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจเป็นเหตุผลสำคัญ
5. ปวดสะโพกร้าวลงขา
อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sacroiliac Joint Dysfunction) มีแนวโน้มที่จะเกิดในผู้หญิงอายุน้อยและวัยกลางคน ผลจากการตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในเหตุผล ที่ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรคปวดสะโพกร้าวลงขามากกว่า ระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีที่ทำให้เส้นเอ็นและข้อต่อผ่อนคลาย เพื่อขยายพื้นที่ให้ทารก และเพื่อการขยายตัวของอุ้งเชิงกรานและช่องคลอดในตอนคลอดลูก แรงกดทับและน้ำหนักของทารกยังเป็นสาเหตุที่ทำให้อุ้งเชิงกรานตึงเครียด นอกจากนี้อุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม อาจส่งผลต่อเส้นเอ็น เป็นเหตุให้เกิดปวดสะโพกร้าวลงขาได้เช่นกัน
6. ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน
ในหลายกรณีของอาการปวดหลังด้านล่าง อาจไม่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง แต่สามารเกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease: PID) อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องและปวดหลังด้านล่างในผู้หญิง โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย เป็นไข้ อาเจียนหรือท้องเสีย มีอาการตกขาวผิดปกติ รวมถึงมีอาการเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานเป็นการติดเชื้อในระบบสืบพันธ์เพศหญิง หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ความเสียหายของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงและทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก การรักษาโรคขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือมีการผ่าตัดถ้าโรคทำให้เกิดฝี (การสะสมของหนอง)
7. โรคตับอ่อนอักเสบ
โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องและหลังส่วนล่างในผู้หญิง หากเป็นอาการปวดท้องมักจะเป็นตรงกลางส่วนบน โรคตับอ่อนอักเสบ หมายถึง การอักเสบของตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนและเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการย่อยอาหาร โรคตับอ่อนอักเสบอาจเกิดขึ้นฉับพลัน หรือเรื้อรัง โดยบางครั้งอาจมีอาการวิงเวียนและอาเจียน อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก หรืออาหารไม่ย่อยร่วมด้วย Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด