เช็กด่วน! 8 อาการโอมิครอน สังเกตุตัวเองและคนข้างๆ พบอาการเหล่านี้หรือไม่!
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กลับมาสร้างความตื่นตระหนกให้ทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่อย่าง โอมิครอน (Omicron) ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม มีแนวโน้มว่าจะตรวจเจอจากชุดตรวจ ATK ได้ยากขึ้น และที่สำคัญเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนก็กำลังระบาดหนักอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ด้วยค่ะ แต่ก่อนจะไปเช็กอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เรามาทำความรู้จักเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้กันก่อนค่ะ
โอมิครอน คืออะไร
โอมิครอน (Omicron) คือเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ของโลก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 เป็นไวรัสที่มีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง ถูกพบครั้งแรกทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นโควิดกลายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวที่ 5 ต่อจากอัลฟ่า, เบต้า, แกมม่า และเดลต้าค่ะ
ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนคือการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ และอาจหลบหลีกต่อภูมิคุ้มกันได้ด้วยค่ะ
อาการของโอมิครอน
ลักษณะอาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิดโอมิครอน ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่พบการสูญเสียการรับรสหรือรับกลิ่น ซึ่งบางรายอาจไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อยมาก และส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน โดย 8 อาการที่เป็นสัญญาณว่าติดเชื้อโอมิครอน คือ
- เจ็บคอ (อาจมีไอแห้ง)
- น้ำมูกไหล
- จาม
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
- เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน แม้จะนอนในห้องแอร์
- ปวดหลังส่วนล่าง
อาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทย
สำหรับอาการส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในไทย จากข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2564 พบว่า 90% ไม่แสดงอาการ 10% แสดงอาการเล็กน้อย และผู้ป่วย 3-4% ที่มีอาการมาก โดยผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการ 41 ราย พบอาการมาก-น้อยตามลำดับ คือ
- ไอ 54%
- เจ็บคอ 37%
- ไข้ 29%
- ปวดกล้ามเนื้อ 15%
- มีน้ำมูก 12%
- ปวดศีรษะ 10%
- หายใจลำบาก 5%
- ได้กลิ่นลดลง 2%
ทั้งนี้ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่า และสามามารหายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษา 10 ราย ที่อาการดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง หลังได้รับยา และให้ยาจนครบ 5 วัน ด้วยค่ะ
วัคซีนป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน
แม้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้อยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วมีอาการน้อยหรือแทบไม่แสดงอาการเลย แสดงให้เห็นว่าวัคซีนโควิดทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีในไทย สามารถป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้
เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีขึ้น จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเข็มกระตุ้นเพื่อรับมือกับโอมิครอน โดยพบข้อมูลว่า
- วัคซีนไฟเซอร์ : เมื่อฉีด 3 เข็ม จะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้สูง 25 เท่า
- วัคซีนโมเดอร์นา : เมื่อฉีดเข็มที่ 3 ครึ่งโดส (50 ไมโครกรัม) จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโอมิครอน 37 เท่า และหากฉีด 1 โดส (100 ไมโครกรัม) ภูมิจะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 83 เท่า
- วัคซีนซิโนแวค : จากการทดลองให้วัคซีนซิโนแวคกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 พบว่าผู้ทดลอง 45 คน จาก 48 คน หรือคิดเป็น 94% มีระดับภูมิคุ้มกันที่จะรับมือโอมิครอนได้มากขึ้น เทียบเท่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3 เข็ม
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า : ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พบว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้มากขึ้น โดยภูมิคุ้มกันมีระดับสูงกว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดโควิดและหายป่วยได้เองจากสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า
ดังนั้นประเทศไทยรวมถึงอีกหลายประเทศจึงรณรงค์ให้ผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ โดยที่ประเทศไทยได้เลื่อนระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้เร็วขึ้น จากเดิมต้องเว้นระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน มาเป็น 3 เดือนแทนค่ะ
รู้ 8 อาการเสี่ยงของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว อย่าลืมสังเกตุอาการเพื่อป้องกันตัวเอง และลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อนะคะ