“ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดจากความรู้สึกผิดหวัง สูญเสีย ถวิลหาเรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข จิตใจหม่นหมอง หรือรู้สึกสิ้นหวัง จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ แล้วรู้ได้อย่างไรว่า “ผู้สูงอายุ” ที่บ้านเรา กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในเรื่องนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อสังเกตถึงสัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ไว้ดังนี้
1. รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร หรือทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลง
ถ้าช่วงหลังผู้สูงอายุที่บ้านมีอาการเบื่อหน่าย ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ อย่างจากเดิมที่ชอบไปออกกำลังกายกับเพื่อนวัยเดียวกัน ก็เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือไม่ยอมออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับครอบครัวอีก และชอบแยกไปอยู่เงียบๆ คนเดียว นี่คือสัญญาณเตือนว่า พวกท่านอาจอยู่ในภาวะซึมเศร้า
วิธีดูแล : พยายามกระตุ้นให้ท่านทำกิจกรรม ทั้งทำเพียงลำพัง หรือทำร่วมกันในครอบครัว อาทิ ให้ท่านแต่งตัวเอง จัดเก็บข้าวของในห้องนอนเอง ชวนกันออกกำลังกายเบาๆ หรือชวนปลูกต้นไม้ในสวน
2. เบื่ออาหาร หรือทานได้น้อยลง
อาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจทานน้อยลง ไม่ยอมทานเลย หรือยอมทาน แต่ทานเมนูเดิมไม่ได้ อาทิ จากที่ชอบทานปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว แต่ตอนนี้ไม่ชอบทาน หรือทานได้แค่มื้อเดียวเท่านั้น ไม่สามารถทานเป็นมื้อที่ 2 ได้อีก เพราะรู้สึกรสชาติเปลี่ยนไป ทั้งที่เป็นกับข้าวจานเดิม
วิธีดูแล : ลองเปลี่ยนเมนูอาหารใหม่ ให้ทานง่าย ย่อยง่ายขึ้น แต่ยังคงสารอาหารครบถ้วนเหมาะกับวัยผู้สูงอายุ และอาจปรับเมนูอาหารตามความต้องการผู้สูงอายุ เพื่อให้ท่านมีส่วนร่วมตัดสินใจ ที่สำคัญยังได้เมนูที่ถูกใจคนทานอีกด้วย
3. รู้สึกว่า ตัวเองไร้ค่า
ทำความเข้าใจก่อนว่า เดิม “ผู้สูงอายุ” คือ เสาหลักซึ่งทำหน้าที่หารายได้มาเจือจุนครอบครัว เมื่อวันหนึ่งต้องมาใช้ชีวิตนั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านโดยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบอะไร เงินที่เคยมีใช้สอยไม่ขาดมือ ก็ต้องรอจากลูกหลานแทน ย่อมทำให้ผู้สูงอายุบางคนรู้สึกเคว้งคว้าง สิ้นหวัง จนคิดว่า ตนไร้ค่า โดยคุณต้องสังเกตพฤติกรรมพวกท่านให้ดี ว่ามีผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ อย่ามัวรอฟังเสียงบ่นเด็ดขาด
วิธีดูแล : พยายามพูดคุยให้กำลังใจพวกท่าน หากิจกรรม หรือมอบหมายภารกิจให้ทำ เพื่อให้ท่านรู้สึกว่า ตัวเองยังมีคุณค่า อาทิ สอนหนังสือลูกหลาน หรือดูแลบัญชีค่าใช้จ่ายในบ้าน เป็นต้น
4. บ่นเรื่องอาการเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นอะไรเลย
อย่าแปลกใจ ถ้าได้ยินผู้สูงอายุในบ้านเปรยเรื่องอาการเจ็บป่วย หรือโรคต่างๆ ตลอดเวลา ทั้งที่พวกท่านไม่ได้เป็นอะไรเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ชวนให้วิตกกังวลไปต่างๆ นานา ว่าตนป่วยเป็นโรคร้ายแรง แม้เป็นแค่ไข้หวัด แถมบางคนอาจนั่งวินิจฉัยโรคให้ฟังได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประหนึ่งเป็นคุณหมอเสียเอง
วิธีดูแล : เมื่อได้ยินเสียงเปรยเรื่องอาการเจ็บป่วย ต่อให้คุณรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ก็ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่ท่านกำลังพูด อย่าละเลย หรือเห็นเป็นเรื่องน่าเบื่อไร้สาระ เพื่อให้ท่านรู้สึกมั่นใจว่า คุณพร้อมรับฟังและอยู่เคียงข้างท่านเสมอ
5. อารมณ์แปรปรวนฉุนเฉียวง่าย
ถ้าจู่ๆ ผู้สูงอายุในบ้านคุณ เริ่มมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ทั้งฉุนเฉียวง่าย โวยวายเก่ง เอะอะก็ไม่พอใจกับทุกเรื่อง พลอยทำให้คนในครอบครัวทำตัวไม่ถูก นั่นอาจเป็นเสียงเตือนของอาการภาวะซึมเศร้าก็ได้
วิธีดูแล : ด้วยช่วงอารมณ์ที่แสนแปรปรวนนี้ สิ่งที่คุณทำได้ คือ นิ่งและรับฟังสิ่งที่พวกท่านพูด นอกจากนี้ การแสดงออกทางกาย อย่างการจับมือระหว่างฟังก็ถือว่าสำคัญ อาจทำให้ท่านรู้สึกว่า คุณเข้าใจและพร้อมรับฟังจริงๆ
6. นอนไม่หลับ
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เวลานอนจะเปลี่ยนไป คือ เข้านอนเร็วขึ้น และตื่นเช้ากว่าเดิม ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่น่ากังวล เพราะยังมีเวลาพักผ่อน แต่ถ้าเริ่มมีอาการนอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับติดต่อกัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคอื่นอยู่ก็ได้
วิธีดูแล : ชวนทำกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลาย อาทิ ฟังเพลง เต้นรำ และอ่านหนังสือ ฯลฯ ทั้งนี้ หากพบว่า ผู้สูงอายุนอนไม่หลับติดต่อกัน 3-4 วัน แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที