ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงอยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจและรู้ทันโรคหัวใจ เพื่อดูแลหัวใจของคุณให้แข็งแรง
“หัวใจล้มเหลว” เกิดจากอะไร?
นพ. ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติไม่ตอบสนองต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย อีกทั้งความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจ การติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจก็ล้วนส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดลดลง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดกลับเข้าหัวใจได้เป็นปกติ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
7 สัญญาณอันตราย “หัวใจล้มเหลว”
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) อาจมีอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมด้วย ได้แก่
1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
2. อึดอัด หายใจลำบากเมื่อออกกำลังกาย
3. หายใจลำบากเมื่อนอนหงาย
4. ตื่นกลางดึกเพราะไอหรือหายใจลำบาก
5. ขา ข้อเท้า เท้าหรือตัวบวมจากภาวะคั่งน้ำ
6. เวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อย
7. เข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน
ป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว
การใส่ใจดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถทำได้ ดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
2. เลี่ยงกินเค็ม ด้วยการไม่เติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสเพิ่มไปในอาหาร เลี่ยงเกลือโซเดียม อาหารรสเค็ม อาหารกระป๋อง ของหมักดอง อาหารสำเร็จรูปทุกชนิด อาหารเค็มจะทำให้น้ำคั่งในร่างกายมากขึ้น
3. งดสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของหัวใจและทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
4. จัดการความเครียด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำสมาธิ ท่องเที่ยว
5. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที คนที่เป็นโรคหัวใจต้องดูแลตัวเองให้ดี ได้แก่ หากน้ำหนักลดเร็ว ควรกินอาหารย่อยง่าย ครั้งละไม่มากแต่บ่อย เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ชั่งน้ำหนักตัวเองและทำการจดบันทึกไว้เสมอ ถ้าน้ำหนักเพิ่ม 1 กิโลกรัม ภายใน 1-2 วัน อาจบ่งบอกว่าเกิดภาวะการคั่งน้ำควรปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการบวม กดบุ๋มให้รีบพบแพทย์ทันที แต่หากเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ควรงดออกกำลังกาย
6. งดอาหารที่มีรสเค็ม
7. ทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง หากเกิดอาการผิดปกติปรึกษาแพทย์ทันที และพบแพทย์ตามนัด
8. เลี่ยงเดินทางไกลหรือนั่งเป็นเวลานาน ไม่เดินทางตามลำพัง และไม่โดยสารเครื่องบิน
การใส่ใจดูแลหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของชีวิต ดังนั้นถ้าไม่อยากให้หัวใจล้มเหลวตั้งแต่วันนี้ ต้องเริ่มต้นดูแลสุขภาพหัวใจของคุณให้แข็งแรง